คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่าง ๆ
น้ำมันหอมระเหย กลิ่นต่างๆ ที่เราใช้บำบัด ในยุคสปาร้อนแรงเดี๋ยวนี้ มีขาย หาซื้อได้ง่ายนะคะ สิ่งที่เราควรคำนึง คือเราต้องการกลิ่นไหน เราต้องการให้ช่วยบำบัด แก้ไข เรื่องใด
น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด (Bergamot) ทำให้จิตใจของคุณร่าเริงเบิกบาน น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้มีความไวต่อแสงอาทิตย์มาก จึงทำให้ผิวหนังไหม้ได้ง่าย คุณจึงควรใช้น้ำมันหอมชนิดนี้แต่เพียงเล็กน้อย
น้ำมันหอมระเหยจากมะนาว (Lemon) ทำให้ร่างกายกระปี้กระเปร่าสามารถใช้ในการอาบน้ำนวดคลายกล้ามเนื้อ แต่สิ่งที่คุณควรระวังก็คือไม่ควรใช้ก่อนออกแดดเพราะจะทำให้ผิวหนังของคุณไหม้ได้
น้ำมันหอมระเหยจากส้ม (Orange) ทำให้มีจิตใจเบิกบานและอารมณ์เย็น แต่คุณไม่ควรใช้น้ำมันหอมประเภทนี้ก่อนการออกแดด เช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดและมะนาว
น้ำมันหอมระเหยจากต้นชา ( Tea Tree) ช่วยพัฒนาความคิดในเชิงบวก และเสริมสร้างความมั่นใจให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระดังงา (Yiang Yiang) ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เหมาะในการใช้อาบน้ำ นวดคลาย กล้ามเนื้อ
น้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบ (Rose) ช่วยผ่อนคลายความเครียด ฟื้นฟูความมั่นใจ แม้น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้จะมีราคาสูงมาก เพราะต้องใช้กลีบกุหลาบในปริมาณมากๆ ในการสกัด แต่ก็มีสรรพคุณที่สูงตามไปด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากสน (Pine) ช่วยในการลดอาการเลือดคั่งและปรับสภาพสีผิว ส่งผลดีต่อโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เหมาะที่จะใช้ในการสูดดม อาบน้ำ และยังสามารถใช้บำรุงเส้นผมได้ดีอีกด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากสะระแหน่ (Peppermint) เป็นน้ำมันชนิดที่ให้พลังงาน ยับยั้งเชื้อโรคและบรรเทาอาการเจ็บปวด สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ (Lemon Grass) ช่วยในการยับยั้งการติดเชื้อโรค ป้องกันแบคทีเรีย ฉีดเพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ สามารถใช้ขับไล่แมลงได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ ควรระวังในเรื่องของการระคายเคืองของผิวหน้า
น้ำมันหอมระเหยจากมะลิ (Jasmine) ช่วยระงับพิษและอาการทางกล้ามเนื้อและตึงเครียดของกล้ามเนื้อ บรรเทาความเจ็บปวด แต่ไม่ควรใช้ขณะตั้งครรภ์ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาได้ง่าย
น้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัส (Eucalyptus) ช่วยในการต่อต้านเชื้อโรค ลดอาการแน่นหน้าอกช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นหวัด สามารถใช้ในการอาบน้ำ นวดคลายกล้ามเนื้อ ฉีดให้มีกลิ่นหอม ทั้งยังเป็นส่วนผสมในการผลิตภัณฑ์ บำรุงผิวพรรณและเส้นผมอีกด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากกำยาน (Franincense) ช่วยในการบำรุงกำลังและเพิ่มความสวยงาม ช่วยให้รู้สึกเย็นสบายและผ่อนคลาย สามารถใช้ในการอาบน้ำและฉีดให้มีกลิ่นหอมได้
น้ำมันหอมระเหยจากว่าน (Cardamon) ช่วยในการฟื้นฟูสภาพความเมื่อยล้าและเฉื่อยชาเซื่องซึม เหมาะสำหรับการอาบน้ำ และนวดคลายกล้ามเนื้อ
น้ำมันหอมระเหยจากคาโมไมล์ (Camomile) ช่วยในการสร้างความผ่อนคลาย ทำให้คุณหลับสบาย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผิวแก่ก่อนวัย เหมาะใช้ในการอาบน้ำ และนวดคลายกล้ามเนื้อ
น้ำมันหอมระเหยจากใบแมงลัก (Basil) เสริมสร้างความกระปรี้กระเปร่าทำให้หายจากอาการง่วงเหงาซึมเซา สร้างสมาธิเพิ่มมากขึ้นจิตใจปลอดโปร่ง ใช้ได้ทั้งการอาบน้ำและการนวด แต่ควรระวังในสตรีมีครรภ์ ควรใช้ในปริมาณเล็กน้อยและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่ ช่วยขจัดแบคทีเรีย ขับเชื้อโรค ทำให้สดชื่นแจ่มใสช่วยให้มีสมาธิและมีกำลังใจ ถ้าใช้ในการนวดจะให้ความอบอุ่นกระตุ้นและปรับตัว เหมาะสำหรับผิวมัน
น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ ช่วยกำจัดแบคทีเรีย และช่วยกระตุ้นให้ร่างกายขับเชื้อโรคออกไป ทำให้สงบ และผ่อนคลาย ช่วยให้อารมณ์เกิดความสมดุล ถ้าใช้ในการนวดจะช่วยให้นอนหลับสบายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ทำงานหนัก ถ้าใช้ผสมกับครีม โลชั่นจะช่วยบำรุงผิวและลดความมันบนใบหน้า และยังช่วยสมานแผลได้อีกด้วย
น้ำมันหอมระเหยเป๊ปเปอร์มินต์ ช่วยกำจัดแบคทีเรีย ช่วยให้จิตใจแจ่มใส ปลอดโปร่ง ช่วยให้สดชื่นและมีชีวิตชีวา เหมาะสำหรับผิวมัน ไม่ควรใช้กับผิวที่แพ้ง่าย
สารสกัดจากการบูร ใช้รักษาหนังศีรษะ
น้ำมันหอมระเหยไม้ซีดาร์ ช่วยให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย
น้ำมันหอมระเหยจากองุ่น ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส สดชื่น
น้ำมันหอมระเหยดอกบัว (Lotus oil) ใช้บำรุงผิว
น้ำมันจากผลอะโวคาโด ใช้ผสมครีมบำรุงผิวหน้าและผิวกาย
น้ำมันจากจมูกข้าวสาลี ใช้ผสมครีมบำรุงผิวหน้าและผิวกาย
กลิ่นหอมกับความรู้สึกที่แตกต่าง
1. กลิ่นโรแมนติคหอมหวาน มักเป็นกลิ่นดอกไม้ หอมเรียบง่าย งดงามชื่นใจ เช่น กลิ่นดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้ ดอกมูเกต์ ดอกกุหลาบ
2. กลิ่นหอมเร่าร้อน หยิ่ง ทะนง กล้าหาญ ได้จากกลิ่นหอมตระกูลเครื่องเทศผสมกับดอกไม้ที่มีกลิ่นไม่แรงนัก ให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า รู้สึกถึงความมีอิสระ ความกล้า หยิ่ง ทะนงในตัวเอง เช่น กลิ่นดอกพีโอนี ดอกซาตินวู้ด ดอกแซนดัลวู้ด ไม้แทงก้า
3. กลิ่นแห่งความลึกลับ ค้นหา คล้าย ๆ กับกลิ่นหยิ่ง ทะนงแต่ร้อนแรงกว่า มักได้มาจากกลิ่นดอกไม้แรง ๆ เช่น ไฮยาซินท์ ราตรี นางกวัก ไม้กระวาน กระดังงา ไลแล็ก มิโมซา โบตั๋นขาว ผกากรองหอมและเครื่องเทศแรง ๆ บางชนิด จะทำให้เกิดความรู้สึกเร่งเร้า เข้มข้น รุนแรง และลึกลับ น่าค้นหา
4. กลิ่นหอมเย็นของดอกไม้ พรรณพฤกษา บอกถึงพลังอิสระ เช่น กลิ่นหอมซาบซ่านของ มะนาว มะกรูด มะกรูดอิตาเลี่ยน มินต์ บัวส์เดอโรส น้ำมันพริกไทยดำ ส้มซ่า เฟิร์นหอม เพราะเป็นกลิ่นหอมของสีเขียว จึงให้กลิ่นที่หอมเย็น ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา สดชื่น มักเป็นกลิ่นของผู้ชาย และผู้หญิงแกร่งเก่งและกล้า
5. กลิ่นของความเสน่หา เป็นกลิ่นที่มีความหอมฉุน อบอวลให้ความรู้สึกที่ลึกล้ำ หอมชวนคลั่งไคล้ร้อนแรง มักได้จากกลิ่นหอมที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศ เช่น ขมิ้น กำยาน ยางสน หรือกลิ่นอำพัน กลิ่นชะมด เพราะเป็นกลิ่นที่เร้าใจ เรียกร้องให้ไขว่คว้า
อโรมา-เอราปี เป็นเรื่องของการเอาเรื่องของกลิ่นหอม มาดูแลรักษาเยียวยาสุขภาพ เช่น ถ้านอนไม่หลับ ก็สามารถใช้น้ำมันหอมระเหยตามกลิ่นที่แต่ละคนชอบ กลิ่นแต่ละกลิ่น จะมีปฏิกิริยากับแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่ที่จะชอบกลิ่นไหน ในคุณสมบัติของกลิ่น จะแยกเป็นกลุ่ม ๆ เช่น เรื่องการนอนไม่หลับนี้ สามารถเลือกได้จาก กลิ่นแมนดาริน (กลิ่นส้ม), กลิ่นกุหลาบ (โรส), กระดังงา (อีแลง อีแลง), จัสมิน (มะลิ), ผิวส้ม หรือเลมอนกราสส์ ที่จริงในต่างประเทศจะมีวิธีทดสอบทางเคมีว่า แต่ละคนจะเหมาะกับกลิ่นอะไรโดยใช้การเทส แต่วิธีที่สามารถทำได้ก็คือ ทำย้อนกลับกัน คือให้เลือกกลิ่นที่ชอบเอาเองเพราะกลิ่นที่เราดมแล้วหอมก็คือใช่ ถ้าดมแล้วฉุน หรือเหม็นก็แสดงว่าไม่ใช่ หลักการง่าย ๆ แบบนี้ ลองทำกันดูนะคะ..
หลักการเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยมีอะไรบ้าง
1. หลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยที่ฉลากระบุว่า Perfume oil ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการนำน้ำมันหอมระเหยชนิดสังเคราะห์ที่ได้กลิ่นเหมือนกันมาใช้แทน ไม่มีประโยชน์ในการบำบัด กลิ่นแรกหลังจุดจะรู้สึกแสบจมูก
2. หากน้ำมันหอมระเหยบรรจุอยู่ในขวดแก้วใส คุณสมบัติหรือประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยจะหาย กลิ่นจะไม่คงทน และประโยชน์ในการบำบัดก็จะลดลงตามไปด้วย วิธีการเลือกซื้อที่ถูกต้อง คือ ต้องเลือกใช้ภาชนะบรรจุที่มีขวดแก้วสีทึบ เช่น สีน้ำตาล สีน้ำเงิน หรือสีเขียว เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นจวดพลาสติก หรือมีจุกยาง เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยจะละลายพลาสติกหรือจุกยางได้
4. ราคาของน้ำมันหอมระเหยโดยปกติแล้วมีราคาประมาณ 1,000 – 10,000 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะมะลิและกุหลาบจะมีราคาแพงมาก เพราะฉะนั้นหากท่านเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยได้ในราคาถูก ขอให้หยุดคิดสักนิดว่าอาจไม่ใช่ของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์
5. หากพบน้ำมันหอมระเหยมีตะกอนอยู่ก้นขวดหรือแขวนลอยอยู่ ขอให้เลี่ยงเพราะน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวอาจถูกเก็บไว้นานเกินไป
6. ควรหลีกเลี่ยงผู้ค้าที่มาขายในช่วงเทศกาลหรือตามสถานที่จัดงานต่าง เนื่องจากไม่มีแหล่งที่อยู่ที่แน่นอน ไม่สามารติดต่อได้ภายหลัง ควรซื้อจากร้านสปาโดยตรง
7. การเลือกซื้อควรได้พิสูจน์กลิ่นก่อนว่ากลิ่นเป็นอย่างไร แสบมูก หรือฉุนหรือไม่ ผู้ขายสามารถอธิบายถึงสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวได้หรือไม่
ข้อควรระวัง
พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ เลขานุการมูลนธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา กล่าวว่า การใช้น้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่า อโรมาเธอราพี (Aroma Therapy) ในปัจจุบัน จะใช้ในการรักษาโรค ลดความเครียด ทั้งการสูดดม การทา และการนวด ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากนำมันหอมระเหยมีความเข้มข้นสูง และสารที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง แต่ในประศไทยยยังมีการวิจัยในเรื่องนี้น้อยาก ซึ่งน้ำมันที่ทำให้เกิดอาการแพ้มีหลายประเภท เช่น น้ำมันส้ม น้ำมันมะกรูด ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ชื่อว่า คาราเวย์ (Caraway) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บางคนเกิดอาการแพ้แสงแดด น้ำมันกานพลู น้ำมันเออกาโน หรือน้ำมันเครื่องเทศของฝรั่ง(บ้านเรายังไม่มีการนำเข้า) ซึ่งหากใช้ในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและหลอดลมได้
พ.ญ.เพ็ญนภา กล่าวต่อว่า กลุ่มที่จะต้องระมัดระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหยมากที่สุดคือ กลุ่มหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคลมชักหรือลมบ้าหมู โดยในกลุ่มหญิงมีครรภ์ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยประเภทเปปเปอร์มินท์ หรือน้ำมันพริกไทยดำ น้ำมัน
กานพลู น้ำมันอบเชย น้ำมันตะไคร้หอม เนื่องจากสารดังกล่าวอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งได้
ส่วนผ้ป่วยโรคลมชัก ห้ามใช้น้ำมันหอมประเภทโรสแมรี่ น้ำมันเบซิล เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวอาจส่งผลให้อาการชักกำเริบได้ ดังนั้นผู้ที่จะใช้น้ำมันหอมระเหยจะต้องรู้ข้อดี ข้อเสีย ของน้ำมันหอมระเหยด้วย
อ้างอิงบทความจาก
หนังสือ Home Spa by Pichaya
นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 103
|